วาฬเพชฌฆาต หรือ วาฬออร์กา (อังกฤษ: Killer whale, Orca) เป็นสปีชี่ส์ที่ใหญ่ที่สุดในในวงศ์โลมามหาสมุทร (Delphinidae) สามารถพบเห็นได้ในมหาสมุทรทั่วโลก ตั้งแต่แถบอาร์กติกและแอนตาร์กติกา จนถึงทะเลในแถบเขตร้อน จนอาจเรียกได้ว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สามารถพบเห็นได้ทั่วโลกมากที่สุดนอกเหนือจากมนุษย์[3]
อนุกรมวิธานและวิวัฒนาการ[แก้]
วาฬเพชฌฆาต เป็นสปีชีส์เดียวในสกุล Orcinus ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในสัตว์หลายชนิดที่ได้รับการบรรยายระบุจำแนกโดย คาโรลัส ลินเนียส ในผลงานที่ชื่อ "Systema Naturae" ในปี ค.ศ. 1758 (ศตวรรษที่ 18)[4] คอนราด แกซส์เนอร์ เป็นผู้แรกที่เขียนบรรยายลักษณะของวาฬเพชฌฆาตตามหลักวิทยาศาสตร์ใน "Fish book" งานของเขาในปี ค.ศ. 1558 บนพื้นฐานของซากวาฬเกยฝั่งที่ดึงดูดความสนใจของคนท้องถิ่นจำนวนมากในอ่าวไกรฟซ์วัลด์ [5]
วาฬเพชฌฆาตเป็น 1 ใน 35 สปีชี่ส์ของวงศ์โลมามหาสมุทรซึ่งปรากฏตัวครั้งแรกประมาณ 11 ล้านปีมาแล้ว เชื้อสายวาฬเพชฌฆาตอาจแตกแยกออกมาภายหลังจากนั้นไม่นาน แม้ว่าทางสัณฐานวิทยาวาฬเพชฌฆาตมีลักษณะคล้ายคลึงกับวาฬเพชฌฆาตเล็ก, วาฬเพชฌฆาตดำ และวาฬนำร่อง แต่จากการศึกษาอันดับยีนไซโทโครม บีโดยริชาร์ด รีดัก แสดงว่ามันเป็นญาติใกล้ชิดกับสกุลโลมาหัวบาตร (Orcaella)[6]
ชื่อสามัญ[แก้]
นักวิทยาศาสตร์ที่พูดภาษาอังกฤษส่วนใหญ่มักจะใช้คำว่า "killer whale (วาฬเพชฌฆาต)"[7] แม้ว่า คำว่า "orca (ออก้า)" จะถูกใช้มากขึ้น วาฬเพชฌฆาตเป็นข้อสนับสนุนที่บ่งชี้ถึงวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน โดยแท้จริงแล้ว ชื่อสกุล Orcinus หมายถึง "ของอาณาจักรแห่งความตาย"[7] หรือ "เป็นสมาชิกของความตาย (Orcus)"[8] โรมโบราณเป็นผู้ให้กำเนิดคำว่า orca (พหูพจน์ orcae) เพื่อเรียกสัตว์ชนิดนี้ อาจเป็นไปได้ที่ยืมคำมาจากภาษากรีก ὄρυξ (ในหลายๆ คำ) ซึ่งเกี่ยวโยงถึงวาฬชนิดนี้ ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1960 ความนิยมของออก้าได้เติบโตอย่างมั่นคง ทั้งในชื่อและการใช้งาน คำว่าออก้าถูกใช้ในบางสิ่งที่ของการเลี่ยงความหมายโดยนัยในเชิงลบของ "นักฆ่า"[9] และเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของวงศ์โลมามหาสมุทร วาฬชนิดนี้จึงเป็นญาติใกล้ชนิดกับโลมามากกว่าวาฬ[10]
บางครั้งมีการเรียกวาฬเพชฌฆาตว่า "blackfish (ปลาดำ)" ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกวาฬชนิดอื่นด้วยเช่นกัน ในอดีตมีการเรียกวาฬเพชฌฆาตว่า Grampus แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีใครใช้ชื่อเรียกนี้แล้ว คำว่า Grampus ยังเป็นชื่อสกุลของโลมาริสโซ ซึ่งเป็นสปีชีส์เดียวในสกุลนี้[11]
ประเภท[แก้]
วาฬเพชฌฆาตประเภทต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน
จากการศึกษาในปี ค.ศ. 1970 และ ค.ศ. 1980 นักวิจัยแถบชายฝั่งตะวันตก ของแคนาดา และสหรัฐอเมริกา ร่วมกันอธิบายว่า 3 ใน 5 ชนิดของวาฬเพชฌฆาต สามารถแสดงให้เห็นความแตกต่างมากเพียงพอที่จะสามารถแบ่งแยกออกเป็นเผ่าพันธุ์[12] ชนิดย่อย, หรือแยกเป็นชนิดใหม่[13] ได้
- สายพันธุ์ทั่วไป (Resident) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่มากในแถบชายฝั่ง บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือ ของมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนมากจะล่าปลาเป็นหลัก บางครั้งก็ล่าหมึกบ้าง อยู่รวมกันเป็นกลุ่มอย่างเหนียวแน่นและซับซ้อน เป็นรูปแบบทางสังคมที่มีตัวเมียเป็นจ่าฝูง เรียกว่า "Matriarch" ตัวเมียของสายพันธุ์นี้มีครีบด้านข้างโค้งมน พบเห็นได้บ่อยครั้งแถบบริติชโคลัมเบีย และตอนใต้ของอะแลสกา นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเล นักวิจัยสามารถระบุวาฬเพชฌฆาตกว่า 300 ตัวได้ ในช่วง 30 ปี และได้ตั้งชื่อให้เข้ากับกลุ่มที่มันอาศัย พร้อมทั้งมอบหมายเลขให้ด้วย
- สายพันธุ์อพยพ (Transient) พวกนี้จะล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นหลัก ไม่กินปลา อาศัยในแถบตอนใต้ของอะแลสกา ส่วนมากอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 2-6 ตัว ไม่อยู่รวมในกลุ่มครอบครัวตลอดเวลา ตัวเมียมีครีบที่ค่อนข้างจะเป็นรูปสามเหลี่ยม ฝูงของมันจะเดินทางไปทั่ว โดยไม่มีเป้าหมายที่แน่ชัด อาจจะพบเห็นได้บางที่ หรือไม่พบเห็นเลย หรือกลับมาที่เดิมในช่วง 10 ปี ทำให้เป็นการยากที่นักวิจัยจะทำการศึกษาเรื่องของมัน พวกมันถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1970 เมื่อมันถูกจับได้ที่บริติชโคลัมเบีย แต่มันปฏิเสธที่จะกินปลาเป็นเวลาถึง 72 วัน อย่างไรก็ตาม มันจะยอมกินก็ต่อเมื่อมันหิวจัด เป็นสาเหตุให้นักวิจัยเริ่มตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับ วาฬเพชฌฆาตสายพันธุ์อื่น ซึ่งการศึกษาเรื่องของมันก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง โดยเฉพาะที่อาร์เจนตินา และนิวซีแลนด์
- สายพันธุ์ทะเลลึก (Offshore) พวกนี้จะอาศัยอยู่ในบริเวณทะเลเปิด ส่วนมากจะล่าปลา, เต่าทะเล และปลาฉลามเป็นอาหาร สามารถพบเห็นพวกมันได้ในฝูงขนาดใหญ่ ประมาณ 60 ตัวขึ้นไป ในปัจจุบันยังมีความเข้าใจน้อยมากเกี่ยวกับวาฬเพชฌฆาตชนิดนี้ แต่สามารถแยกแยะออกจากสายพันธุ์ ที่กล่าวมาได้ทางพันธุกรรม ตัวเมียจะมีครีบที่หลังโค้งมน ขนาดของสายพันธุ์นี้ส่วนมากจะเล็กกว่า สายพันธุ์ทั่วไปกับสายพันธุ์อพยพ และนักวิทยาศาสตร์สามารถระบุตัวของสายพันธุ์นี้ได้เพียง 40 ตัวเท่านั้น ทำให้ยากที่จะประเมินข้อมูลได้
ปัจจุบันนี้ แม้วาฬเพชฌฆาตจะถูกจัดให้เพียงสปีชีส์เดียวและเป็นเพียงสกุลเดียว แต่จากการศึกษาล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์พบว่า วาฬเพชฌฆาตอาจแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม หรือ 4 ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกัน หรืออาจะมากกว่า โดยแบ่งไปตามลักษณะภายนอก เช่น ขนาดลำตัว รูปร่างของครีบหลัง ลายบนหลัง ลายด้านข้าง สี รวมถึงพฤติกรรม และถิ่นที่อยู่อาศัย โดยสถานที่ ๆ เดียวที่สามารถพบวาฬเพชฌฆาตทุกประเภทได้ คือ แอนตาร์กติกา หรือ มหาสมุทรใต้
โดยเมื่อกว่า 700,000 ปีที่แล้ว วาฬเพชฌฆาตถูกแบ่งออกมาเป็นกลุ่มแรก คือ กลุ่มที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ต่อมาเมื่อ 450,000 ปีก่อน คือ กลุ่มที่อาศัยอยู่ในแถบแอนตาร์กติกา ซึ่งยังแบ่งออกได้เป็นอีกหลายกลุ่ม ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ก็ค่อยแยกออกจากกันในเวลาที่ตามมา[3]
ในประเทศไทย พบวาฬเพชฌฆาตเพียงแค่ไม่กี่ครั้ง โดยในปี ค.ศ. 1993 พบในทะเลอันดามันทั้งหมด 9 ครั้ง โดยเป็นที่หมู่เกาะสุรินทร์ 5 ครั้ง และหมู่เกาะสิมิลัน 4 ครั้ง และพบอีกครั้งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2013 ที่ฝั่งอ่าวไทย บริเวณเกาะช้าง โดยเป็นวาฬตัวเมียขนาดเล็กที่ได้รับบาดเจ็บ 2 ตัว ซึ่งในตอนแรกเชื่อว่าเป็นโลมาอิรวดี[14] จนกระทั่งพบอีกครั้งในต้นปี ค.ศ. 2016 โดยนักท่องเที่ยวสามารถบันทึกภาพไว้ได้เมื่อต้นปี ค.ศ. 2016 ที่หาดกะรน จังหวัดภูเก็ต[15]
วาฬเพชฌฆาตเผือก[แก้]
ในต้นปี ค.ศ. 2012 นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียพบวาฬเพชรฆาตตัวผู้ตัวหนึ่ง เป็นวาฬเพชฌฆาตเผือกที่นอกชายฝั่งคาบสมุทรคัมชัตคา ในรัสเซีย ซึ่งนับเป็นวาฬเพชฌฆาตเผือกโตเต็มวัยตัวแรกที่ถูกค้นพบ โดยก่อนหน้านั้นมีพบวาฬเพชฌฆาตเผือก 2 ตัวที่รัสเซีย แต่ยังไม่ใช่ตัวโตเต็มวัย แต่กับตัวนี้เป็นตัวโตเต็มวัย จึงคาดว่ามีอายุ 16 ปี หรือมากกว่า และตั้งชื่อให้ว่า "ไอซ์เบิร์ก" (ภูเขาน้ำแข็ง)[16]
พฤติกรรม[แก้]
วาฬเพชฌฆาตเป็นนักล่าที่ชาญฉลาด ส่วนมากล่าปลาเป็นอาหาร ในบางสายพันธุ์จะล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลอย่างแมวน้ำ, สิงโตทะเล หรือแม้กระทั่งวาฬขนาดใหญ่ วาฬเพชฌฆาตเป็นสัตว์สังคม จนได้รับฉายาว่า "หมาป่าแห่งท้องทะเล"[17]โดยสัณนิษฐานได้จากพฤติกรรมทางสังคมที่ซับซ้อนของมัน อย่างเช่น เทคนิคการล่า การส่งเสียงที่สามารถสื่อความหมายระหว่างกันได้ โดยการศึกษาพบว่าวาฬเพชฌฆาตแต่ละฝูงจะมีการส่งเสียงที่แตกต่างกัน แม้จะอยู่ในพื้นที่แถบเดียวกันก็ตาม โดยมีตัวเมียเป็นจ่าฝูงหรือผู้นำฝูง ตัวเมียจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และให้ลูกได้เมื่ออายุ 3 ปี เมื่อล่าปลาแต่ละสปีชีส์ที่แตกต่างกัน วาฬเพชฌฆาตก็จะส่งเสียงที่แตกต่างกันด้วย และยังพบอีกด้วยว่าสมองของมันยังสามารถแสดงออกถึงอารมณ์คล้ายกับมนุษย์ได้อีกด้วย[3]
ถึงแม้ว่าวาฬเพชฌฆาตจะไม่จัดอยู่ในสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ แต่ในบางพื้นที่มันก็ได้รับความคุ้มครอง อันเนื่องมาจากการปนเปื้อนของสารพิษในน้ำทะเล การตกเป็นเหยื่อของนักล่าที่ใหญ่กว่าแล้วเพิ่มจำนวนไม่ทัน การถูกจับโดยบังเอิญระหว่างการทำประมง การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย การถูกมนุษย์ล่า โดยส่วนมากแล้ววาฬเพชฌฆาตจะไม่ทำร้ายมนุษย์ มีเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่พบว่าทำร้ายมนุษย์ อย่างเช่น ในกรณีของวาฬเพชฌฆาตในสวนน้ำ[3]
พฤติกรรมการล่า[แก้]
วาฬเพชฌฆาตจัดเป็นนักล่าอันดับต้น ๆ มันกินอาหารราว 227 กิโลกรัม/วัน และมันไม่เคยนอนหลับ แต่จะใช้วิธีว่ายน้ำช้า ๆ แทน ไม่อย่างนั้นมันจะจมน้ำตาย วาฬเพชฌฆาตที่มีอายุมากกว่าจะสอนวิธีการล่าเหยื่อให้แก่วาฬเพฌฆาตที่อายุน้อยกว่า[18]
เทคนิคการล่าเหยื่อประเภทปลา[แก้]
วาฬเพชฌฆาตมุ่งเป้าโจมตีไปที่สปีชีส์ของปลาแซลมอน และปลาทูน่า รวมไปถึงปลาฉลามบางพันธุ์อย่างปลาฉลามอาบแดดเป็นต้น ในบางกรณีเมื่อมันต้องการปกป้องลูกของมัน วาฬเพชฌฆาตสามารเอาชนะปลาฉลามขาว ได้ ในประเทศนิวซีแลนด์พบว่าวาฬเพชฌฆาตยังล่าพวกปลากระเบน, หมึก รวมไปถึงเต่าทะเลด้วย สำหรับเหยื่อประเภท ปลาแซลมอน วาฬเพชฌฆาตมักจะลุยเดี่ยว หรือออกล่าเป็นกลุ่มเล็กๆ ส่วนเหยื่อพวกปลาเฮร์ริง วาฬเพชฌฆาตจะใช้เทคนิคพิเศษที่เรียกว่า "Carousel feeding" โดยมันจะต้อนฝูงปลาแฮร์ริ่งไปที่บริเวณผิวน้ำ แล้วใช้หางตวัดกระแทกผิวน้ำอย่างแรง ทำให้ปลามึนและแตกตื่น ซึ่งสัญชาตญาณของปลาแฮร์ริ่งจะกระโดดขึ้นเหนือผิวน้ำ เมื่ออยู่ในภาวะเช่นนั้น
เทคนิคการล่าเหยื่อประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม[แก้]
วาฬเพชฌฆาตล่าแมวน้ำถึงชายฝั่ง
วาฬเพชฌฆาตจะล่าเหยื่อที่อยู่ในอันดับ Cetacea ถึง 22 สปีชี่ส์ ซึ่งทราบได้จากการตรวจสอบสิ่งที่หลงเหลืออยู่ในกระเพาะอาหาร และแผลเป็นของเหยื่อ ฝูงวาฬเพชฌฆาตสามารถจู่โจมวาฬที่มีขนาดใหญ่กว่าอย่าง วาฬมิงค์, วาฬสีเทา,วาฬหัวทุย โดยวาฬเพชฌฆาตจะเลือกเหยื่อที่มีอายุน้อย หรืออ่อนแอกว่า แต่ว่าฝูงวาฬเพชฌฆาตประมาณ 5 ตัว สามารถจู่โจมวาฬอื่น ที่โตเต็มวัยได้ แต่มันก็หลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับวาฬหัวทุยที่โตเต็มวัย เพราะว่าวาฬหัวทุยตัวใหญ่กว่า แข็งแกร่ง และดุร้ายพอที่จะฆ่าวาฬเพชฌฆาตได้
เวลามันล่าลูกวาฬ ฝูงวาฬเพชฌฆาตจะต้อนตัวแม่จนกระทั่งเริ่มอ่อนแรง แล้วแยกตัวลูกออกจากตัวแม่ ฝูงวาฬเพชฌฆาตก็จะล้อมตัวลูกไว้ แล้วสกัดไม่ให้ตัวลูกขึ้นไปหายใจได้ จนกระทั่งมันจมน้ำตาย ในบางกรณีฝูงวาฬหัวทุยตัวเมีย สามารถป้องกันการจู่โจมของฝูงวาฬเพชฌฆาตได้โดยการ ล้อมตัวลูกเป็นวงกลม แล้วยื่นหางออกไปทาง วาฬเพชฌฆาตเป็นการพร้อมโจมตี เหยื่อประเภทแมวน้ำ, สิงโตทะเล, วอลรัส, นากทะเล จะเป็นเหยื่ออันดับรองลงมาจากพวกวาฬ นาน ๆ ครั้งหมีขั้วโลก ก็อาจตกเป็นเหยื่อได้เหมือนกัน
วาฬเพชฌฆาตจะใช้วิธีการล่าที่แตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของเหยื่อ สำหรับเหยื่อพวกสิงโตทะเล จะใช้วิธีเอาหัวกระแทก หรือเอาหางฟาด บางครั้งก็ชน บางครั้งก็ใช้วิธีเหวี่ยงขึ้นไปบนอากาศแล้วฟาด บางครั้งขึ้นมาจนถึงริมฝั่งเพื่อลากเหยื่อลงน้ำ ซึ่งเป็นวิธีที่พวกวาฬเพชฌฆาตตัวเต็มวัย จะสอนให้กับตัวที่อายุน้อยกว่าที่ยังไม่ค่อยรู้เทคนิคการล่า สำหรับเหยื่อพวกแมวน้ำที่อยู่บนแผ่นน้ำแข็ง วาฬเพชฌฆาตจะแอบมองดูเหยื่อด้วยวิธี "Spyhopping" เพื่อระบุตำแหน่งของเหยื่อ แล้วจะสร้างคลื่นเพื่อซัดแมวน้ำให้ตกลงไปในน้ำ ในขณะที่วาฬเพชฌฆาตอีกตัวรอซุ่มโจมตีอยู่